วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

เริ่ม1เมย.ป่วยฉุกเฉิน บัตรปชช. ใช้รักษาได้ทุกรพ.

"ปู"คุยลั่นยกเครื่องใหญ่ แผน10ปีระบบสุขภาพ รักษาฟรี-ไม่มีเงื่อนไข ทั้งของรัฐบาล-เอกชน แก้ปัญหาไม่ยอมรับตัว


หมอปู- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เดินทางไปกล่าวปาฐกถาหัวข้อ "นโยบายรัฐบาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" เดินหน้าโครงการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว เริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ ตามข่าว
เริ่ม 1 เม.ย.นี้ใช้บัตร ประชาชนใบเดียวเข้ารักษา′กรณีฉุกเฉิน′ ได้ทุกร.พ.โดยไม่มีเงื่อนไข นายกฯยิ่งลักษณ์-รมว.สธ.วิทยาบูรณาการ ระบบสุขภาพครั้งใหญ่ ประเดิมให้ Ɖ กองทุนสุขภาพ′ 30 บาทรักษาทุกโรค-ประกันสังคม-สวัสดิการข้าราชการ เข้ารักษากรณีฉุกเฉินได้ ทุกร.พ. โดยสปสช.จะสำรองจ่ายก่อนแล้วไปเก็บจากกองทุนที่ใช้สิทธิ นายกฯยันไม่มีการรวม 3 กองทุนแน่นอน ให้แต่ละกองทุนบริหารจัดการตัวเองต่อไป แต่จะทำงานร่วมมากขึ้น เพื่อคุณภาพและลดสิ้นเปลือง

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "นโยบายรัฐบาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ภายในการประชุมวิชาการ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทศวรรษที่สอง" จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การอนามัยโลก มีใจความตอนหนึ่งว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี มีระบบดูแลประชา ชน ทั่วถึง และไม่ใช่ดูแลแค่ปลายทางคือการรักษาพยาบาลเท่านั้น 

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า นโยบายรัฐบาลที่จัดเก็บค่ารักษาครั้งละ 30 บาท เพื่อแสดงว่าประชาชนซื้อบริการการรักษาพยาบาล ไม่ใช่รับการสงเคราะห์ และทำให้มุมมองต่อการดูแล ผู้ป่วยเปลี่ยนไป ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษาอย่างสมศักดิ์ศรี ที่ผ่านมาระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น จากใช้บริการ 112 ล้านครั้งในปี 2547 เพิ่มเป็น 153 ล้านครั้งในปี 2553 และส่งผลให้จำนวนครัวเรือนยากจนลดลงถึง 78,000 ครัวเรือนต่อปี

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า อีก 10 ปีข้างหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต่อยอดการพัฒนาให้ดีขึ้น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากโครง การการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยปรับให้ผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้ โดยจะไม่มีการถามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย แต่ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว และไม่ต้องสำรองจ่าย เพราะสปสช.จะทำหน้าที่บริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จะเริ่มให้บริการระบบนี้ทันทีวันที่ 1 เม.ย. 2555 นอกจากนี้จะนำระบบเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ เช่น ระบบเทเลเมดิซีน การให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์และการใช้สมาร์ท การ์ดเก็บข้อมูลประวัติสุขภาพ จะช่วยให้แพทย์ดูแลประชาชนได้เต็มที่ขึ้น เป็นต้น

"สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล เรื่องการรวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นกองทุนเดียวนั้น ดิฉันขอยืนยันว่าไม่มีการรวมกองทุนใดๆ ทั้งสิ้น ทุกกองทุนจะยังต้องดูแลกองทุนของตัวเองต่อไป เพียงแต่จะต้องบูรณาการร่วมกันทั้ง 3 สิทธิรักษาพยาบาล เพื่อให้เกิดบริการแบบทั่วถึง ต่อเนื่อง และมีคุณภาพ" นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า 2.การควบคุมค่าใช้จ่ายระยะยาว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านยาที่คิดเป็น 46% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของ คนไทย ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพียง 20% เท่านั้น จึงจำเป็นที่ทั้ง 3 กอง ทุนจะต้องบูรณาการร่วมกัน โดยกำหนดราคากลางยาหรือรวมกันจัดซื้อยา แต่ต้องไม่ลดคุณภาพ ยา และนำเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาใช้ปรับปรุงคุณภาพยาต่อไป รวมถึงควบคุมการใช้ยาฟุ่ม เฟือย แต่ไม่จำกัดการใช้ยาจำเป็น หากทำได้เช่นนี้จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ระยะยาว 

การส่งเสริมสุขภาพประชาชนจะต้องเน้นเรื่องสร้างสุขภาพที่ดีมากกว่าการซ่อมสุขภาพ โดยจัดสร้างลานชุมชนสร้างสรรค์ การออกกำลังกาย อาหารเพื่อสุขภาพ และสุขภาพแม่ตั้งครรภ์ ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เน้นบทบาทร.พ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการป้องกันโรค ให้ความรู้และการรักษาแก่ประชาชนในพื้นที่

"ประชาชนคนไทยควรมีหมอประจำครอบ ครัว โดยใช้เทคโนโลยีในการให้คำปรึกษา ซึ่งเบื้องต้นอาจเริ่มจากการที่แพทย์ให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ที่สถานพยาบาล แต่อนาคตระบบอินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกครัวเรือน อาจปรับให้ประชาชนขอคำปรึกษาแพทย์ได้จากที่บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดจำนวนแพทย์ ยังอยากเห็น 1 แพทย์ 1 ตำบล" นายกฯ กล่าว

สำหรับการใช้สิทธิฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมที่จะเริ่ม 1 เม.ย.นี้นั้น มีนิยามความหมายของคำว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น ว่า หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขาอ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น ทั้งนี้สามารถสอบถามถึงอาการฉุกเฉินที่เข้าข่ายจะได้รับสิทธิฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมที่สายด่วน 1669

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ความเท่าเทียมของแต่ละกองทุนที่เห็นชัดที่สุด คือ การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินใน 3 ระบบ ให้สามารถใช้บริการได้ทุกร.พ. ทั้งร.พ. รัฐและเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีสปสช. เป็นหน่วยงานกลางสำรองจ่ายเงินให้สถานพยาบาลต่างๆ ก่อน และค่อยเรียกเก็บตามสิทธิของผู้ป่วยภายหลัง นโยบายนี้จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบริการทันท่วงที ไม่ต้องกังวลเรื่องสิทธิการรักษา เนื่องจากที่ผ่านมามักถูกถามว่าอยู่สิทธิไหน ซึ่งยุ่งยาก วันที่ 28 มี.ค.นี้จะมีการลงนามข้อตกลงร่วม 3 กองทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ก่อนประกาศใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้                                             credit นสพ.ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น