วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ห่างไกลโรคหัวใจ...สุขภาพดี

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาลแห่งความรัก นอกเหนือจากการมอบความรักให้แก่ผู้อื่นแล้วก็ต้องไม่ละเลยดูแลหัวใจของตนเองร่วมด้วย

โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากจะเป็นปัญหาคร่าชีวิตผู้ป่วยอย่างมากมายในแต่ละปีแล้ว ที่ผ่านมายังมีโรคไม่ติดต่อ อาทิ โรคหัวใจพิบัติ อัมพาต มะเร็ง โรคปอดเรื้อรังและโรคเบาหวาน ที่คร่าชีวิตประชากรโลกไปก่อนวัยอันควรเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 60-80 โดยประเทศไทยพบว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงพบมีอยู่หลายด้าน แต่ปัจจัยที่กล่าวกันถึง 10 ประการแรกมีในเรื่องของบุหรี่ ความดัน ไขมัน เบาหวานตามด้วย อ้วน เครียด เกลือ น้ำตาลและการไม่ออกกำลังกายซึ่งพบว่าเป็นปัจจัยที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งยังมีปัจจัยที่มาสร้างเสริมที่แก้ไขได้และแก้ไม่ได้อย่างเรื่องของพันธุกรรม

พญ.คุณสวรรยา เดช อุดม ประธานฝ่ายวิชาการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ให้ความรู้ว่า การปรับเปลี่ยนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำร้ายหัวใจ นอกจากจะช่วยดูแลรักษาหัวใจแล้วยังช่วยในเรื่องของโรคเบาหวานซึ่ง การรักษาหากให้หมอรักษาเพียงอย่างเดียวไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา ผ่าตัดตกแต่งหลอดเลือดทำบัลลูน ฯลฯ การรักษาจะต่อชีวิตได้ 7 ปี แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายเหล่านี้ลดลงก็จะต่อชีวิตยืนยาวอีก 3 เท่า

การปรับเปลี่ยนพฤติ กรรมหากพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมในเรื่องอาหาร การออกกำลังกายและอารมณ์ ในเรื่องอาหารนั้นอาจยึดหลักการทานอาหารที่ พอเหมาะ พอดี พอเพียงและพอใจ อาหารส่วนใหญ่นั้นไม่มีโทษแต่หากทานมากเกินไปก็อาจกลายเป็นโทษได้ อย่างไขมันก็ต้องมีความพอดีและรู้หลักเลือกบริโภค

คาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง หากเป็นข้าวเลือกทานข้าวซ้อมมือซึ่งมีใยอาหารอยู่มาก อาหารสำเร็จรูปมักไม่มีกากใย ส่วนโปรตีนควรเป็นเนื้อขาวไม่ใช่เนื้อแดง เลือกเนื้อปลา เนื้อไก่ที่ไม่ติดมัน ฯลฯ และจาก โครงการอาหารไทยหัวใจดี ในความพอเหมาะอาจสังเกตตราสัญลักษณ์อาหารรักษ์หัวใจ รูปหัวใจติ๊กถูกซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบจากมูลนิธิฯ อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณลักษณะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมนำไปติดที่ผลิตภัณฑ์

ส่วน พอดี สิ่งนี้เป็นความเพียงพอต่อตัวเราซึ่งการใช้พลังงานผู้ชาย ผู้หญิง ผู้สูงอายุจะไม่เท่ากัน ปริมาณที่ผู้หญิง เด็กและผู้สูงอายุควรได้รับ 1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน, ผู้ชาย 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน ที่ผ่านมากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำเป็นรูปธงโภชนาการไว้โดยกำหนดเป็นทัพพี อย่างเช่น ปริมาณอาหารที่ควรบริโภคใน 1 วันสำหรับเด็ก ผู้หญิงและผู้สูงอายุ ข้าว-แป้งวันละ 8 ทัพพี, ผักสุกวันละ 4 ทัพพี, ผลไม้วันละ 3 ส่วน (1 ส่วนประมาณ 6 คำ), เนื้อสัตว์วันละ 6 ช้อนกินข้าว, นมหรือน้ำเต้าหู้วันละ 1-2 แก้ว, น้ำมัน น้ำตาลและเกลือวันละน้อย ๆ เป็นต้น

โรคหัวใจจากหลอดเลือด หัวใจตีบ-ตัน ปัญหาสำคัญของประเทศที่พัฒนาแล้วรวมทั้งในประเทศไทยซึ่งมีสถิติคนเป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ นพ.อดิเกียรติ เอี่ยมวรนิรันด์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยโสธรในขณะนั้นกล่าวว่า โรคหัวใจกำลังกลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ทวีความรุนแรง หากประชาชนทั่วไปไม่รู้จักวิธีการปฏิบัติตน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาสำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ที่ผ่านมา มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ร่วมกับโรงพยาบาลยโสธร ได้จัดโครงการหัวใจสัญจรขึ้นเพื่อทำการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่จำนวน 10 ท่าน นำโดย ศ.นพ.ปริญญา สากิยลักษณ์ นำเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง เช่นเครื่อง Echo ให้บริการซึ่งเป็นประโยชน์อย่างสูง ทั้งแก่ผู้ป่วย รวมถึงแพทย์โรงพยาบาลยโสธรที่ดูแลผู้ป่วยโดยโรงพยาบาลยโสธร ได้ตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอกซเรย์หน้าอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ มีผู้ผ่านการคัดกรอง 3 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจอายุรกรรมจำนวน 90 ราย, ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจ จำนวน 40 ราย , ผู้ป่วยหลังผ่าตัดลิ้นหัวใจและศัลยกรรมหัวใจ จำนวน 40 ราย รวมทั้งสิ้น 170 รายที่เข้ารับการตรวจรักษา

ศ.นพ.ปริญญา กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหัวใจยากไร้จะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดและได้รับการดูแลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ก็ยังมีผู้ป่วยโรคหัวใจยากไร้อีกจำนวนมากที่ยังรอคิวผ่าตัดเป็นเวลานาน

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 80 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และ 60 พรรษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในปีพุทธศักราช 2555 มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงจัด “โครงการผ่าตัดหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 225ราย” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดหัวใจเร็วขึ้น โดยการผ่าตัดจากทีมแพทย์นอกเวลาราชการ ในการนี้จะมีค่าใช้จ่ายการผ่าตัดรายละ 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน).
..........................................
เคล็ดลับสุขภาพดี :   ทาน “ช็อกโกแลต” รับวาเลนไทน์ให้พอเหมาะ...ดีต่อหัวใจ
ใกล้ถึงเทศกาลวาเลนไทน์ วันแห่งความรักกันแล้ว คู่รักหลายคู่คงกำลังเตรียมหาของขวัญชิ้นพิเศษเพื่อสื่อความหมายของคำว่า “รัก” เพื่อมอบให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นดอกกุหลาบ ตุ๊กตา การ์ดน่ารัก ๆ รวมถึง “ช็อกโกแลต” ซึ่งถือเป็นสื่อรักแทนใจได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นขนมหวานโปรดปรานของสาว ๆ แล้วทราบหรือไม่ว่าการรับประทานช็อกโกแลตมีผลดีต่อหัวใจของเราด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ คณะสาธารณ สุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า การรับประทานช็อกโกแลตต่างชนิดกันมีผลดีและผลร้ายต่อหัวใจที่แตกต่างกันออกไป โดย การรับประทานช็อกโกแลตดำ (Dark Chocolate) วันละนิดจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากมีสารสำคัญในโกโก้ที่เรียกว่า
’ฟลาโวนอยด์“ ซึ่งพบในช็อกโกแลตดำ

สารฟลาโวนอยด์ในช็อกโกแลตดำนี้จะมีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบภายในร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย ที่สำคัญเราควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะไม่มากเกินไป เนื่องจากหากเผลอรับประทานเพลินตามใจปากก็อาจได้รับปริมาณน้ำตาล ไขมัน และพลังงานมากเกินไปจนทำให้อ้วน และเป็นโรคป่วยเรื้อรังได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ

อย่างไรก็ตามการเลือกรับประทานช็อกโกแลตต้องรู้จักสังเกตดูฉลากส่วนประกอบข้างกล่องหรือห่อสักนิดหนึ่งว่าช็อกโกแลตที่เราจะรับประทานเข้าไปนั้นมีส่วนประกอบของโกโก้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปหรือไม่ เพราะเราควรรับประทานช็อกโกแลตที่มีส่วนประกอบของโกโก้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปและมีปริมาณน้ำตาลไม่สูงเกินไป โดยปริมาณที่แนะนำคือประมาณ 7 กรัม หรือ 2 ชิ้นต่อวัน เพียงแค่นี้เราก็จะได้รับประทานช็อกโกแลตที่มีความอร่อยและมีประโยชน์ต่อหัวใจอีกด้วย

แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราเลือกรับประทานช็อกโกแลตขาว (White Chocolate) ซึ่งประกอบไปด้วย เนย โกโก้หรือส่วนที่เป็นไขมัน ของโกโก้แต่ไม่มีเนื้อโกโก้ หรือหากเราเลือกรับประทานช็อกโกแลตนม (milk Chocolate) ซึ่งมีการปรุงแต่งใส่นมและน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าเราจะไม่ได้รับสารฟลาโวนอยด์จากโกโก้แล้ว แต่เราจะได้รับน้ำตาล นม และไขมันแทน ซึ่งส่วนประกอบทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ดังนั้นเมื่อทราบกันแบบนี้แล้ววาเลนไทน์ปีนี้คู่รักทั้งหลายที่อยากมอบช็อกโกแลตเป็นสื่อแทนใจก็ ควรเลือกซื้อช็อกโกแลตดำให้กับคนที่คุณรักมากกว่าช็อกโกแลตขาว ที่สำคัญชวนกันรับประ ทานในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อถนอมหัวใจซึ่งกันและกันเอาไว้ตราบนานเท่านาน.
..........................................
สรรหามาบอก
-ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งแห่งประเทศไทย ขอเชิญผู้สนใจรับฟังการบรรยาย ’ไขข้อข้องใจในเรื่องของมะเร็ง“ อาทิ ทำไมมะเร็งเกิดซ้ำแล้วจะป้องกันอย่างไร แพทย์แผนจีนที่รักษามะเร็งได้หลายเป้าหมายเป็นอย่างไร ฯลฯ โดยวิทยากรแพทย์จีนผู้เชี่ยวชาญการรักษามะเร็งด้วยสมุนไพรจีน ใน วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 13.00-16.00 น. ห้องสัมมนา 1 ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระบารมี ซอยศูนย์วิจัย (ซอยเพชรบุรีตัดใหม่ 47) ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สนใจสำรองที่นั่งโทร. 0-2664-0079

-โรงพยาบาลพญาไท 1 ขอเชิญรับคำปรึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรมและมะเร็งชนิดต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันพุธเวลา 17.00-19.00 น.และวันเสาร์เวลา 10.00-13.00 น. ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมและโทรฯ นัดหมายล่วงหน้าได้ที่ศูนย์อายุรกรรม อาคาร 1 ชั้น 1 โรงพยาบาลพญาไท 1 โทร. 0-2640-1111 ต่อ 2166-7 หรือ 1772
..........................................
มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์จึงขอเชิญชวนร่วมบริจากตามจิตศรัทธาเพื่อสมทบทุนใน "โครงการผ่าตัดหัวใจเฉลิมพระเกียรติ 225 ราย-มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย"
โดยนำเข้าบัญชี ธนาคารทหารไทย สาขารพ.กรุงเทพ เลขที่บัญชี 196-2-12335-0
ธนาคารกรุงไทย สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่บัญชี 041-0-10697-6
ธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่บัญชี 153-4-16826-3
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่บัญชี 043-272076-3
ส่งแฟกซ์สำเนาใบโอนเงิน พร้อมทั้งแจ้งชื่อ-ที่อยู่ในการจัดส่งใบเสร็จรับเงิน (เงินบริจาคดังกล่าวสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง) มาที่ โทรสาร 0-2716-5813 เพิ่มเติมรายละเอียดสอบถามได้ที่ 0-2716-6658, 0-2716-6843
ทีมวาไรตี้  credit นสพ.เดลินิวส์

แสดงความคิดเห็น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น